ดอกดาหลา


ดาหลา ดอกไม้ขนาดใหญ่รูปทรงแปลกตา สีสดใส มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ดาหลาที่บ้านเราเป็นสีแดงสดปลูกอยู่ริมรั้วบริเวณที่มีแสงรำไร จะออกดอกตลอดปี และจะให้ดอกมากในฤดูร้อน เรามักจะปล่อยให้บานอยู่บนต้น ไม่ได้ตัดดอกมาใส่แจกัน พอดอกเหี่ยวถึงค่อยตัดทิ้ง
ดาหลาเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นเหมือนพืชจำพวกกล้วย ใบเป็นรูปหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อ แทงก้านดอกจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับซ้อนกันหลายชั้น มีสีชมพูถึงแดงเข้ม
ดอกดาหลาเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่เราชอบถ่ายรูปมากๆ เพราะสีสดและดอกใหญ่ กลีบที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้นทำให้รูปมีมิติ สีแดงสดของดอกตัดกับสีเขียวสดของใบทำให้ได้รูปที่สดใสดีจริงๆ


ความหมายของดอกดาหลา
ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยรู้ว่าดอกดาหลามีตำนานเรื่องเล่าอะไรมาบ้างหรอกนะ แต่พอลองค้นดูก็ได้เจอว่าดาหลาเป็นสัญลักษณ์ของการรอคอยความรัก เพราะมีเรื่องเล่าของคู่รักต่างศาสนาคู่หนึ่ง โดยฝ่ายชายเป็นชาวไทย ส่วนฝ่ายหญิงสาวเป็นชาวมาเลเซียซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งสองได้พบและรักกันที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็ถูกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงกีดกันเพราะศาสนาที่ต่างกัน แล้ววันหนึ่งฝ่ายชายมีความจำเป็นต้องกลับประเทศไทยและได้ให้สัญญากับหญิงสาวว่าจะกลับมาหาที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ฝ่ายหญิงก็ได้แต่รอการกลับมาด้วยความหวัง รอแล้วรออีก รอจนตรอมใจตายในที่สุด และหญิงสาวก็ได้อธิษฐานว่าจะขอเกิดมาเป็นดอกดาหลาที่ขึ้นอยู่ตามชายแดนทุกชาติเพื่อรอชายคนรักตลอดไป
สำหรับเรานอกจากตำนานที่ได้รู้มานี้ เรายังมองว่าดอกดาหลาน่าจะใช้แทนความหมายของความมั่นคงได้ด้วย เพราะเป็นดอกไม้ที่มีความทนทานสุดๆ ไปเลยล่ะ ใครหลายๆ คนถึงได้ชอบตัดดาหลามาใส่ไว้ในแจกัน เพราะว่าจะอยู่ได้หลายวันเลยทีเดียว

อนุกรมวิธานของดาหลา
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name):
Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith
ชื่อพ้อง (Synonym):
Phaeomeria magnifica, Nicolaia elatior
ชื่อสามัญ (Common name):
ดาหลา (Torch Ginger)
วงศ์ (Family):
Zingiberales
ชื่ออื่นๆ (Other name):
กาหลา
ถิ่นกำเนิด (Origin):
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ดอก ดาหลาเป็นดอกช่อมีลักษณะดอกแบบ head ประกอบด้วย กลีบประดับ (Bracts) มี 2 ขนาด ส่วนโคนประกอบด้วยกลีบประดับขนาดใหญ่ มีความกว้าง 2 - 3 ซม. จะมีสีแดงขลิบขาวเรียงซ้อนกันอยู่ และจะบานออก ประมาณ 25 - 30 กลีบ และมีกลีบประดับขนาดเล็กอยู่ส่วนบนของช่อดอก ความกว้างกลีบประมาณ 1 ซม. ซึ่งมีสีเดียวกับกลีบประดับขนาดใหญ่ กลีบประดับเล็กนี้จะหุบเข้าเรียงเป็นระดับมีประมาณ 300 - 330 กลีบ ภายในกลีบประดับขนาดใหญ่ที่บานออกจะมีดอกขนาดเล็กกลีบดอกสีแดง ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างดอกประมาณ 14 – 16 ซม. ความยาวช่อ 10 – 15 ซม. มีก้านดอกยาว 30 – 150 ซม. ลักษณะก้านช่อดอกแข็งตรงดอก
ใบ มีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างและค่อยๆ เรียวไปหาปลายใบและฐานใบ ใบไม่มีก้านใบผิวเกลี้ยง ทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบยาว 30 - 80 ซม. กว้าง 10 – 15 ซม. ปลายใบแหลม ฐานใบเรียว ลาดเข้าหาก้านใบ เส้นกลางใบปรากฏชัดทางด้านล่างของใบ
ลำต้น ดาหลาเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข่า มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า (rhizome) เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้น ตาหลา 1 ต้น สามารถให้หน่อใหม่ได้ประมาณ 7 หน่อในเวลา 1 ปี ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบช้อนกันแน่นเช่นเดียวกับพวกกล้วย ส่วนนี้คือลำต้นเทียม (pseudostem) ลำต้นเหนือดินสูง 2 - 3 ม. มีสีเขียวเข้ม
พันธุ์ ปัจจุบันพันธุ์ดาหลาที่นิยมปลูกตัดดอกมีอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ พันธุ์สีชมพูและพันธุ์สีแดง
(ที่มา: การปลูกดาหลา โดยคุณสุรวิช วรรณไกรโรจน์)



การขยายพันธุ์ดาหลา
การแยกหน่อ ควรแยกหน่อที่มีความเหมาะสม นั่นคือต้องมีความสูงประมาณ 60 - 100 ซม. ขึ้นไป และมีกิ่งอ่อนกึ่งแก่ประมาณ 4 - 5 ใบ มีหน่อดอกอ่อนๆ ประมาณ 3 หน่อ นำไปปลูกลงถุงพลาสติกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้หน่อแข็งแรงก่อนนำลงไปปลูกในแปลง
การแยกเหง้า เป็นการแยกเหง้าเกิดใหม่ที่โคนต้นไปปลูกในแปลงเพาะชำ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะเริ่มให้ดอก
การปักชำหน่อแก่โดยนำหน่อแก่ไปชำในแปลงเพาะชำเพื่อให้แตกหน่อใหม่ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง จากนั้นจึงค่อยแยกหน่อใหม่ย้ายลงไปปลูกในแปลง
การเพาะเมล็ด คือ การนำเมล็ดแก่ที่ได้จากต้นแม่ไปเพาะในวัสดุเพาะจนได้ต้นกล้าและย้ายลงปลูกในถุงพลาสติก พอต้นแข็งแรงถึงจะสามารถนำลงแปลงปลูกได้ แต่อย่างไรก็ตาม การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ค่อนข้างจะช้ากว่าวิธีอื่นๆ แต่จะได้ผลดี คือ มีอัตราการได้ต้นดาหลาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากหลายพันธุ์ของต้นพ่อและแม่

การดูแลรักษา
ดาหลาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ฤดูที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูฝน การให้น้ำจะต้องให้ในปริมาณที่มากพอสมควรโดยเฉพาะระยะเริ่มแรกของการปลูกควรรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นดาหลาตั้งตัวได้อาจเว้นระยะห่างของการให้น้ำจากวันละครั้งออกไปเป็นประมาณ 2 – 3 วันต่อครั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ ถ้าเป็นฤดูร้อนควรเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น

สำหรับการตัดดอกควรตัดในช่วงเช้า โดยการตัดก้านดอกให้ยาวชิดโคนต้นแล้วแช่ก้านดอกลงในถังที่มีน้ำสะอาดบรรจุอยู่ ดอกดาหลาเมื่อตัดจากต้นแล้วนำมาปักแจกันในน้ำสะอาดจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3 – 7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ

ที่บ้านเรามีแต่ดอกดาหลาสีแดงและไม่ค่อยเห็นดาหลาสีชมพูบ่อยนัก เราเลยมีแต่รูปดาหลาสีแดง หากใครมีรูปดาหลาสีชมพูเอามาแบ่งกันดูบ้างนะคะ




Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น